นักเตะทีมชาติไทย ได้ฤกษ์เข้าแคมป์เก็บตัวกันแล้ว หลังเสร็จสิ้นโปรแกรมฟุตบอลถ้วยวันพุธที่ผ่านมา

โดยมีแมตช์สำคัญในศึกฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบสอง กับ ทีมชาติเกาหลีใต้ ในวันที่ 21 และ 26 มี.ค. นี้

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนผ่านตาไปเห็นวันนี้ และพบว่าเพื่อนในเฟซบุ๊กหลายคนแชร์มาคือ
“กฎเหล็ก 3 ข้อ” ของ มาซาทาดะ อิชิอิ ที่ให้ไว้กับนักฟุตบอลชุดนี้

1. เรื่องเวลา

2. การรักษาสภาพร่างกาย

3. รักษาความลับในทีม

มีเพื่อน ๆ นักข่าวรวมถึงเหล่าอินฟลูเอนเซอร์กีฬาหลายคน ออกมาแซะถึงกฎของ อิชิอิ โดยเฉพาะข้อ 3 ว่า “ไม่มีทางทำได้หรอก”

ผู้เขียนเองมองว่ากับ ข้อ 1 และ 2 ไม่มีปัญหาอะไรเลย กับนักฟุตบอลในยุคนี้ มันคืออาชีพของเขา ถ้าเรื่องเบสิค ๆ ของการเป็นนักกีฬายังทำไม่ได้ คุณก็ไม่สมควรมาสวมยูนิฟอร์มทีมชาติไทย

แต่ข้อ 3 นี่แหละปัญหา


หากผู้อ่านสังเกตเห็นจะพบว่า ในหลาย ๆ หน ที่ทีมชาติไทยเก็บตัวในแคป์แบบไพรเวต จะมีข่าววงในที่ไม่ได้ผ่านการสัมภาษณ์ไมค์รวม หรือแจกจากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์สมาคมฟุตบอล โผล่มาเสมอ  

หรือจะเป็นคอนเทนต์ “คาดเดา” 11 ผู้เล่นตัวจริง ที่บางทีไม่ได้เกิดจากการ “คาดเดา” หรือวิเคราะห์จริง ๆ แต่เป็นการได้รับข้อมูลสอบถามมาจากคนข้างในต่างหาก

หลายข่าวดูเหมือนข่าวลือ เขียนลอย ๆ คล้ายโยนหินถามทาง ไม่ต้องบอกข้อมูลทั้งหมด แต่มีความจริงระดับหนึ่งอยู่ในนั้น

ยกตัวอย่าง โค้ชบางคนอาจยังไม่ได้ประกาศผู้เล่น 11 ตัวจริงก่อนวันแข่ง แต่สื่อจะใช้วิธีถามจากคนข้างในว่า วันนี้ซ้อมยังไง ทีมเอ ทีมบี มีใครลงบ้าง ตำแหน่งนี้คนนี้เจ็บ โค้ชจับใครมาลงทีมซ้อมแทน แล้วนำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูล 11 ตัวจริง

หากโชคดีรู้ 11 ตัวจริงจากแหล่งข่าว หรือคาดเดาผู้เล่นได้ไม่ยาก (เหมือนยุคโค้ชบางคน) ก็นำเสนอไปตรง ๆ แต่ถ้าเอาให้เนียนหน่อยก็จงใจวิเคราะห์ให้ผิดสัก 1-2 ตำแหน่ง เพื่อรักษาแหล่งข่าวไว้ไม่ให้ความลับหลุด

ถามว่าผู้เขียนไปเสือกรู้ได้ไง คำตอบคือ “เราเคยทำงานกับทีมชาติไทยมาเกือบทุกชุด” ตั้งแต่ U14 U16 U19 U23 ยันทีมชาติชุดใหญ่

การทำงานอยู่ใกล้ชิดกับโค้ช-นักฟุตบอล ทำให้เรารู้นิสัยของสื่อ และการเข้าหาข่าวเป็นอย่างดี


สื่อหลายคนสนิทกับนักฟุตบอล สตาฟฟ์ เจ้าหน้าที่ทีม รวมไปถึงโค้ช ผ่านการเป็น “แหล่งข่าว” กันมานานจนรู้จักมักจี่เหมือนพี่น้อง การได้ข่าวเอ็กซ์คลูซีฟมาเขียนแต่ละครั้ง ไม่ต้องมีพิธีรีตรองยื่นไมค์สัมภาษณ์ใด ๆ แค่ทักไลน์ หรือ แมสเซนเจอร์เฟซบุ๊กถามก็จบ

หรือต่อให้แหล่งข่าว “รูดซิปปาก” ไม่พูดอะไร อย่าลืมว่ามีสื่อหลายคนสนิทเอเยนต์นักฟุตบอล ซึ่งเอเยนต์เหล่านี้คือแหล่งข่าวชั้นดี รู้ความเป็นไปของนักฟุตบอลเสมอ

ทักไปคุยเอเยนต์ > เอเยนต์ถามนักฟุตบอล
> แล้วเอเยนต์ก็แค่มาบอกสื่อ

นักข่าวก็เขียน-รายงานเนียน ๆ ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลอะไร อ้างอิงแค่ว่าจาก “แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้” ก็พอ แบบที่บางทีโค้ชยังงงว่า “หลุดไปได้ไง”

แต่สื่อหลายคนก็น่ารัก รับรู้ข้อมูลจากคนข้างใน แต่เลือกไม่นำเสนอ โดยเฉพาะบางเรื่องที่เป็น “ข่าวเชิงลบ” เพราะความสนิท และต้องการรักษาแหล่งข่าวไว้ต่อไป

สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะบอกคือ กฎของ อิชิอิ พูดง่ายแต่ทำยาก

เพราะมันเป็นนิสัยของสื่อสายกีฬาไปแล้ว

ยิ่งวงการสื่ออยู่ในยุคที่แข่งขันกันหายอดวิว แลกกับค่าโฆษณา-รายได้ เพื่อพยุงปากท้ององค์กรหรือช่องทางของตัวเอง การเสนอข่าวซ้ำ ๆ กัน จึงไม่ใช่แนวทาง

ใครมีคอนเนคชันกับแหล่งข่าวมากและลึกกว่า ย่อมได้เปรียบกว่า  

เราอยู่ในโลกที่ย่อทุกอย่างมาอยู่ในฝ่ามือ และตัวกุนซือไม่ได้ตัวติดทีมงาน-นักฟุตบอล 24 ชั่วโมง

การตั้งกฎของ อิชิอิ ไม่ผิดหรอก

แต่ในทางปฏิบัติอาจยาก เมื่อมาเจออะไรแบบไทย

  


ขอบคุณเนื้อหาจาก Thsport.com