อาร์เซน่อล ถูกหยุดความร้อนแรงในลีกที่ชนะ 5 นัดรวดลง หลังพลาดท่าพ่ายต่อ เอฟซี ปอร์โต้ ในเวทียุโรปซึ่งเป็นความปราชัยที่ มิเกล อาร์เตต้า และลูกทีมได้เรียนรู้อย่างมาก

ปอร์โต้ เปิดรังเฉือนชนะหวุดหวิด 1-0 จากประตูในช่วงทดเจ็บที่ไม่เหลือเวลาให้ อาร์เซน่อล ทำอะไรได้อีกนอกจากเดินคอตกเข้าห้องแต่งตัวและรอแก้มือนัดสอง 

อาร์เตต้า เลือกใช้ผู้เล่น 11 ตัวจริงชุดเดียวกับ 2 นัดหลังในลีกที่่ชนะมาสวยงามไล่อัด เวสต์แฮม 6-0 ต่อด้วยบุกทุบ เบิร์นลี่ย์ 5-0 

แต่ผลลัพท์และผลการแข่งขันที่ปอร์โต้กลับต่างออกไป

อาร์เซน่อล หาช่องเจาะลำบากมาก และไม่มีโอกาสสับไกแม้แต่ครั้งเดียวในครึ่งชั่วโมง

จากที่ยิงสลุต 11 ประตูใน 2 นัดด้วยผู้เล่นชุดเดียวกัน อาร์เซน่อล กลับไม่สามารถคุกคามแนวรับ ปอร์โต้ ได้อย่างที่ควรจะเป็น

โอกาสลุ้นครั้งแรกต้องรอจนถึงนาที 33 จากการยิงของ เลอันโดร ทรอสซาร์ แต่ก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับการได้ประตู เช่นเดียวกับลูกโหม่งเตะมุมของ วิลเลียม ซาลีบา ที่ข้ามคาน

ต้องให้เครดิต ปอร์โต้ ที่วางแท็กติกเกมรับมาได้อย่างยอดเยี่ยม และเล่นได้ตามที่ แซร์โจ้ คอนไซเซา ต้องการ

แดนกลางทั้ง อลัน บาเรล่า และ นิโก้ กอนซาเลซ วิ่งไม่หยุดเพื่อขัดขวางการจ่ายบอลของ อาร์เซน่อล ขณะที่ด่านสุดท้ายก่อนถึงผู้รักษาประตูก็มี เปเป้ และ โอตาวิโอ คอยเก็บกวาด

เปเป้ ที่กำลังอายุครบ 41 ปีในอีก 2 วัน ไม่ใช่แค่ลงสนาม แต่เป็นหัวใจสำคัญของทีมเลย จังหวะสุดท้ายแทบไม่พลาด การยืนตำแหน่งดีเยี่ยม และไม่ได้เผยจุดอ่อนในเรื่องสังขารให้คู่แข่งโจมตีได้ 


หลายนัดหลังที่ อาร์เซน่อล เล่นดีในลีก มีอาวุธสำคัญอยู่ที่การสลับกันเข้าเขตโทษของ ไค ฮาแวร์ตซ์ และ เลอันโดร ทรอสซาร์ ที่เป็นทางเลือกให้ บูคาโย่ ซาก้า และ มาร์ติน โอเดการ์ด จ่ายบอลเข้าทำ

แต่ครั้งนี้ อาร์เซน่อล ไม่สามารถเล่นในแบบนั้นเพราะ ปอร์โต้ บีบให้ต้องถ่ายออกด้านข้างไปให้ กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ หรือไม่ก็ บูคาโย่ ซาก้า 

แต่พอสองปีกปืนใหญ่ได้บอลริมเส้นก็ไม่ได้มีเพื่อนร่วมทีมวิ่งเข้าเขตโทษไปเพื่อลุ้นยิงในจังหวะสุดท้ายที่มากพอ แทบทุกจังหวะจะมีผู้เล่น ปอร์โต้ มากกว่าเสมอ  

ในอดีต อาร์เซน่อล เคยเยือนรัง ปอร์โต้ ในแชมเปี้ยนส์ ลีก 3 ครั้ง ปรากฎว่าไม่สามารถเอาชนะได้เลย  

ฤดูกาลนี้ อาร์เซน่อล ทำได้ยอดเยี่ยมในการโจมตีคู่แข่งด้วยลูกเซตพีซจนกลายเป็นทีมที่ทำประตูจากจังหวะเล่นลูกนิ่งได้มากสุดในลีกที่ 14 ประตู ส่วนเกมรุกจากจังหวะโอเพ่นเพลย์ทั่วไปไม่ถึงกับโดดเด่นมาก และหลายต่อหลายครั้งถูกตั้งคำถามว่าควรมีหน้าเป้าที่คุณภาพมากกว่าที่มีอยู่หรือไม่ 

เกมนี้มีการฟาวล์รวมทั้งหมด 36 ครั้ง กลายเป็นสถิติมากสุดของแชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาลนี้ โดย ปอร์โต้ ถูกเป่าฟาวล์ 14 ครั้ง ส่วน อาร์เซน่อล โดนไป 22 ครั้ง

การเสียฟาวล์ของ ปอร์โต้ ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในจุดที่ อาร์เซน่อล เปิดบอลเข้าไปหวังผลได้ และไม่ได้ลุ้นยิงจากฟรีคิกใดเลย มีเพียงลูกเตะมุมที่ได้ลุ้นที่นอกจากลูกโหม่ง ซาลีบา แล้ว ยังมี ไค ฮาแวร์ตซ์ ได้โขก รวมถึง เลอันโดร ทรอสซาร์ ได้วอลเลย์เน้นๆ แต่ข้ามคานน่าเสียดาย


เมื่อทีเด็ดเซตพีซไม่ทำงาน ขณะที่การเจาะด้วยโอเพ่นเพลย์ก็หาช่องลำบาก ต่างจากในลีกที่ โอเดการ์ด และ ซาก้า จ่ายบอลได้ลุ้นตลอด เกมรุกของ อาร์เซน่อล จึงติดขัดขาดความอันตราย

จากที่ยิงได้ถึง 21 ประตูในเกมลีก 5 นัดหลังสุด อาร์เซน่อล กลับยิงไม่ตรงกรอบแม้แต่ครั้งเดียวจากโอกาสที่มี 7 ครั้งในเกมนี้ และเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่ไม่สามารถยิงบอลเข้ากรอบคู่แข่งได้เลย

การได้ใบเหลืองตั้งแต่นาทีเศษของ เดแคลน ไรซ์ ทำให้การเล่นในช่วงที่เหลือทำได้ลำบาก แต่ด้วยคุณภาพของ ไรซ์ ก็เห็นได้เลยว่าเขายังคงเข้าแท็กเกิ่ลแย่งบอลได้แม่นยำจนแทบไม่เสียฟาวล์อีกเลย และสามารถช่วยทีมไปจนจบเกม

อีกจุดที่ถูกพูดถึงคือประสบการณ์ในเวทีระดับแชมเปี้ยนส์ ลีก ของผู้เล่น อาร์เซน่อล ที่มีถึง 10 รายได้ลงเล่นน็อกเอาต์เป็นครั้งแรกในชีวิต และ ไค ฮาแวร์ตซ์ คือคนเดียวที่เคยมีประสบการณ์ตรงนี้มาก่อน

ในรอบแบ่งกลุ่มที่ผ่านมา อาร์เซน่อล ไม่ได้เจอปัญหามากนักและไม่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความอ่อนหัดในเวทียุโรปเพราะสามารถคว้าแชมป์กลุ่มมาครองได้ตามคาด 

แต่ในรอบน็อกเอาต์ “ประสบการณ์” น่าจะมีผลไม่น้อยเพราะความกดดัน ความคาดหวัง บรรยากาศ และความเข้มข้นจริงจังมีมากกว่าเดิม

ที่สำคัญคือ “สมาธิ” ที่ต้องโฟกัสการเล่นตลอดทั้่งเกมจนกว่าจะสิ้นเสียงนกหวีดยาว 


การเล่นของ อาร์เซน่อล ในช่วงท้ายเกมเหมือนพอใจกับผลเสมอ ผิดกับทาง ปอร์โต้ ที่พุ่งหาบอลในทุกจังหวะเพราะต้องการชนะให้ได้ และก็ทำได้สำเร็จในอึดใจสุดท้ายที่จะหมดเวลาอยู่แล้ว

อาร์เซน่อล น่าจะเข้าประชิดตัว กาเลโน่ มากกว่านี้ แต่กลับยืนคุมเชิงจนปีกตัวเก่งเจ้าถิ่นได้บรรจงปั่นแบบไม่มีใครกดดันซึ่งต้องยอมรับว่ายิงได้ดีจริงๆ น้ำหนัก ทิศทาง มาครบ ดาบิด ราย่า สปริงข้อเท้าสุดชีวิตแต่ก็ปัดไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้ที่ ปอร์โต้ ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด อาร์เซน่อล ยังมีโอกาสในนัดสองที่้จะได้กลับมาเล่นในบ้านตัวเองวันอังคารที่ 12 มีนาคม 

ความได้เปรียบในเสียงเชียร์ บรรยากาศที่คุ้นเคย และบทเรียนจากความผิดพลาดในนัดแรกที่จะต้องถูกแก้ไขเพื่อทำให้ดีขึ้น โอกาสของ อาร์เซน่อล ยังคงเปิดกว้างมากๆ


ขอบคุณเนื้อหาจาก Thsport.com