รายการ: ฟุตบอล คาราบาว คัพ รอบรองชนะเลิศ นัดแรก
วันแข่งขัน: วันอังคารที่ 9 มกราคม 2567
สนาม: ริเวอร์ไซด์ สเตเดี้ยม
ผลการแข่งขัน: มิดเดิ้ลสโบรช์ 1-0 เชลซี

ความที่เป็นถ้วยเล็กสุดของประเทศ เชลซี จึงแสดงออกชัดว่า "ไม่เน้น" จะเก็บเกี่ยวความสำเร็จจากถ้วยนี้ ซึ่งก็คงเหมือนทีมใหญ่รายอื่นที่คิดกับรายการนี้แบบ "ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่ใช่ปัญหา"

นั่นทำให้ เชลซี ไปถึงแชมป์รายการนี้แค่ 5 ครั้้งตลอดหน้าประวัติศาสตร์ 118 ปีของสโมสร — เป็นอันดับ 4 ร่วมกับ แอสตัน วิลล่า ที่ได้ 5 สมัยเช่นกัน รองจาก แมนฯ ยูไนเต็ด (6), แมนฯ ซิตี้ (8) และ ลิเวอร์พูล (9)

พบว่าแชมป์หนล่าสุดเมื่อปี 2015 (ยุค โชเซ่ มูรินโญ่) ที่ชนะ สเปอร์ส 2-0 คือแชมป์ ลีก คัพ หนเดียวในรอบ 16 ปีหลังทีเดียว

ส่วนในช่วง 8 ปีหลัง มีตกรอบสี่ 4 ครั้ง, รอบสาม 1 ครั้ง, ถึงตัดเชือก 1 และแพ้นัดชิงอีก 2 หน (2019, 2022)

อย่างไรก็ตาม มาถึงซีซั่นนี้ คาราบาว คัพ กลายเป็น "เป้าหมาย" ที่ เชลซี ขีดเส้นใต้เอาไว้ ด้วยความที่ 1) เป็นทีมสายเลือดใหม่ ขึ้นยุคใหม่ของสโมสรของแท้ นักเตะ-กุนซือ-เจ้าของทีม ใหม่หมด ดังนั้นตอนนี้ ถ้วยไหนเอาก่อนได้ก็ต้องเอา

2) เพื่อเป็นของขวัญปลอบใจแฟนๆ กับการต้อง "จำทน" ยอมรับความตกต่ำ หลุดออกจากการเป็นทีมหัวแถวของประเทศ ปีก่อนถอยมาจบกลางตาราง ปีนี้ก็ไม่น่าขึ้นกว่าเดิมได้มากนัก

3) ก็ดันผ่านมาถึงตัดเชือกแล้ว ออกแรงอีกนิดก็ถึงเส้นชัย

และ 4) ดวงดี ตัดเชือกจับเจอทีม ชปช. อย่าง มิดเดิ้ลสโบรช์ อีก ก่อนเกม ใครก็มองว่า…หวานเจี๊ยบ!

ฝั่ง มิดเดิ้ลสโบรช์ แน่นอนว่าภาพจำแสนสวยคือเมื่อเกือบๆ 30 ปีก่อน กับทีมในตำนานชุดที่มี ฟาบริซิโอ ราวาเนลลี่, จูนินโญ่, อีเมอร์สัน, บรังโก้, มิคเคล เบ๊ค เป็นแกนนำ เข้าชิงชนะเลิศบอลถ้วย 2 รายการ…ในปีเดียวกับที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก!

ส่วนประวัติศาสตร์ช่วงหลัง สิงห์แดง ฮึดเลื่อนชั้นกลับสู่ พรีเมียร์ลีก ได้ในปี 2016 แต่ก็ไม่วายตกชั้นกลับลงไปในเพียงซีซั่นเดียว และก็จนถึงตอนนี้ที่ปักหลักใน อีเอฟแอล แชมเปี้ยนชิพ มา 7 ปีซ้อน

จุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงปีหลังคือการคว้า ไมเคิ่ล คาร์ริค อดีตดาวเตะ แมนฯ ยูไนเต็ด (และรักษาการกุนซือช่วงสั้นๆ) เข้ามานั่งเก้าอี้ในซีซั่นที่แล้ว และ คาร์ริค ก็ทำผลงานแจ่มแจ๋วทันที พาทีมจบอันดับ 4 จนได้เข้าเพลย์ออฟ (แพ้โคเวนทรี)

สำหรับซีซั่นนี้ ผลงานใน ชปช. อาจไม่ได้สวยหรู ตอนนี้รั้งอันดับ 12 โอกาสลุ้นตั๋วเพลย์ออฟยังพอมี แต่ที่เด่นกว่าก็แน่นอนว่าคือผลงานในบอลถ้วยเล็กอย่าง คาราบาว คัพ (แชมป์ 1 สมัย ปี 2004)

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อเท็จจริงของการมาถึงรอบตัดเชือกของ เดอะ โบโร่ ก็คือการที่พวกเขาโชคดีได้เจอคู่แข่ง "ลีกรองล้วน" ตั้งแต่รอบแรกสุดกับ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ (3-2) ตามด้วย โบลตัน (3-1), แบร๊ดฟอร์ด (2-0), เอ๊กเซเตอร์ (3-2) และ พอร์ทเวล (3-0)

การเจอกับ เชลซี เกมนี้-รอบนี้ ก็คือการดวลกับทีม พรีเมียร์ลีก เป็นครั้งแรกเท่านั้น

จากการวางผังเมื่อประกาศรายชื่อก่อนเกม ที่สำนักข่าวใหญ่อย่าง BBC วางมาเป็น 4-3-3 นั้น เมื่อลงสนามไปจริงๆ แล้ว ไม่ใช่อย่างที่กะเก็ง แต่คือ "สูตรเดิม" ที่้ โปเช็ตติโน่ ใช้มาตลอดและนักเตะสิงห์น้ำเงินคุ้นเคยดีแล้วอย่าง 4-2-3-1 นั่นเอง

โดยเป็นคำถามเล็กๆ เหมือนกันว่า หลังจากเลือกดร็อปกัปตันทีม (เบอร์ 3) คอนเนอร์ กัลลาเกอร์ นั่งสำรอง เพื่อใช้งาน เอ็นโซ เฟร์นานเดซ เป็นตัวจริงเมื่อวันเสาร์ที่ชนะ เปรสตัน 4-0 แล้ว มาวันนี้ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ จะวางหมากแบบไหนอย่างไร

ไม่ต้องคิดเยอะ… เอาลงมันทั้งคู่นั่นแหละ!

ผลจึงกลายเป็นวันนี้ เอ็นโซ เฟร์นานเดซ ลงปักหลักกลางรับคู่ มอยเซส ไคเซโด้ และดัน คอนเนอร์ กัลลาเกอร์ ขึ้นเป็นกลางรุกตัวตรงกลาง

แล้วข้างหน้า เมื่อ อาร์มันโด้ โบรย่า ฟอร์มยังงั้นๆ และ นิโคลัส แจ๊คสัน ไปรับใช้ชาติ ทางออกก็คือการดัน โคล พาลเมอร์ ไปจนสุด เป็นหน้าเป้าในลักษณะ "ฟอลส์ไนน์"

ส่วนทาง สิงห์แดง ของ ไมเคิ่ล คาร์ริค แม้จะเล่นในบ้าน แต่ชัดเจนว่าพยายาม "เพลย์เซฟ" ภายใต้ระบบไม่ค่อยคุ้นอย่าง 3-4-2-1 แพ็คแดนกลางแน่น ข้างหน้าทิ้ง เอ็มมานูเอล ลาเต้ ลัธ หอกไอวอรี่โคสต์เจ้าของ 7 ประตูหลังย้ายมาจาก อตาลันต้า ไว้เข้าทำรายเดียว

โดยยังไม่ทันแตะบอลครบทุกคน แค่นาทีแรกจากจังหวะเล่นแรกเท่านั้น มิดเดิ้ลสโบรช์ ก็เสียเปรียบแล้ว กับลูกส้มหล่นที่ ลีวาย โคลวิลล์ โขกคืนหลังพลาดมาให้ เอ็มมานูเอล ลาเต้ ลัธ ควบเข้าไปส่องในจุดอันตราย

…แทนที่จะเป็นประตูนำของ โบโร่ กลับกลายเป็นว่า ลาเต้ ลัธ กลับเกิดปัญหากล้ามเนื้อกระตุกขึ้นมาเองจังหวะสับไก และต้องถูกเปลี่ยนตัวออกจากในสนามทันที ให้หอกสำรอง จอช โคเบิร์น ลงแทน

จากนั้นเล่นต่อกันอีกไม่กี่นาที น.18 อเล็กซ์ บังกูร่า โดนเข้าแท็กจาก โนนี่ มาดูเอเก้ จนล้มเจ็บไปอีกคน และก็ต้องเปลี่ยนตัวทันทีเป็นรายที่ 2 ให้ แม็ตต์ คล้าร์ก ลงไปแทน

รูปเกมเป็น เชลซี ที่ลุยใส่และสร้างโอกาสจบได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นาที 37 กลายเป็น โบโร่ ขึ้นนำเสียเฉยๆ (หลังจากรอดตัวหวุดหวิด จังหวะ โคล พาลเมอร์ หลุดเดี่ยวก่อนหน้านั้น) อิไซอาห์ โจนส์ ตวัดจากขวาผ่านหน้า ลีวาย โคลวิลล์ มาให้ เฮย์เด้น แฮ็คนี่ย์ เข้าชาร์จจ่อๆ เป็นสกอร์นำ 1-0

เชลซี ตามหลังในครึ่งแรก 0-1 ทั้งที่สถิติทุกอย่างเหนือกว่า โดยเฉพาะการสร้างโอกาสจบ 11 ครั้ง ส่วนเจ้าถิ่นได้ลุ้น 3-4 หนเท่านั้น และสิงห์น้ำเงินก็ยังครองบอลเหนือกว่าถึง 60:40% ด้วย

ครึ่งหลัง ยิ่งเวลาผ่าน ยิ่งเห็นว่าแท็กติกของ ไมเคิ่ล คาร์ริค "รับกิน" หมากของ โปเช็ตติโน่

โดยเฉพาะหลายๆ จังหวะในการขึ้นเกมรุกของ เชลซี ที่ไปไม่สุดและไม่ได้จบ สุดท้ายเสียบอลไปเอง นั่นเพราะ 1 หอกตัวเป้า (ที่ไม่ใช่ตำแหน่งถนัด) อย่าง พาลเมอร์ กับ 2 ตัวริมเส้น สเตอร์ลิ่ง – มาดูเอเก้ ไม่มีพื้นที่และช่องว่างให้ได้ทำอะไรในจุดอันตราย

3 เซนเตอร์แบ็ก และ 4 แผงมิดฟิลด์ของ โบโร่ ถอยไปปักหลักเล่นเกมรับกันแบบเต็มพื้นที่ มองทางซ้ายก็แดง ทางขวาก็แดง ตรงกลางก็แดง แดงเต็มพรืดไปหมด

เมื่อภาพเป็นแบบนี้ (และกองหลังเชลซีแทบไม่จำเป็น) ก็ต้องตำหนิ โปเช็ตติโน่ โดยตรง ที่กว่าจะเปลี่ยนตัวแก้เกม หย่อนตัวรุกลงไปเพิ่ม ก็ล่ามาจนนาที 63 แล้ว

และยิ่งแสดงให้เห็นชัดมากๆ ว่า "หน้าเป้า" คือจุดที่ เชลซี ขาดแคลนของแทร่

เมื่อ อาร์มันโด้ โบรย่า ลงสำรองไป ไม่ช่วยอะไร หรือต่อให้จะมี นิโคลัส แจ๊คสัน อยู่ ก็อาจช่วยไม่ได้เหมือนกัน

เกมนี้ จุดที่อยู่ในการจับตาของทุกฝ่าย ก็คือการที่ อีเอฟแอล แถลงเมื่อวันจันทร์ ว่าจะไม่ใช่งานเทคโนโลยี VAR ในรอบตัดเชือกนี้ ด้วยเหตุผลว่าเพราะ ริเวอร์ไซด์ สเตเดี้ยม ไม่ได้ติดตั้ง VAR ไว้แต่เดิม (และจะทำเพิ่มเพื่อเกม 1 นัด ก็ไม่คุ้ม)

อย่างไรก็ตาม ที่เสียวๆ กันว่า เชลซี จะเสียประโยชน์จากการที่ไม่มี VAR หรือไม่นั้น

ตรงกันข้าม เชลซี ดูได้ประโยชน์จากการณ์นี้ มากกว่า

เพลย์แรกในไม่ครบนาที อักเซล ดิซาซี่ พุ่งเสียบใส่ เอ็มมานูเอล ลาเต้ ลัธ ในวินาทีสุดท้ายที่หัวหอกโบโร่สับไก (เบาเข้ามือ ยอร์เย่ เปโตรวิช) หากมีต้องเช็ค VAR ก็ไม่แน่ว่า เชลซี อาจเสียจุดโทษตั้งแต่นาทีแรกเอาได้เหมือนกัน

ยังต่อเนื่องด้วยนาทีที่่ 8 เอ็นโซ เฟร์นานเดซ ถอยลงไปช่วยเกมรับ และบอลเด้งขามาโดนแขนเข้าเต็มๆ จังหวะนี้ผู้ตัดสิน แซม แบร์ร็อตต์ เลือกปล่อยผ่าน…และไม่มี VAR ส่งสัญญาณให้เช็คซ้ำ

ส่วนครึ่งหลัง ไม่มีจังหวะน่ากังขาเกิดขึ้นเพิ่มเติม

เป็นคนละเรื่องเดียวกันกับอาถรรพ์เสื้อเบอร์ 9 ของ เชลซี

ว่าเกมนี้ โคล พาลเมอร์ ถูกดันขึ้นไปเป็นหน้าเป้า False Nine ก็ไม่วายโดน "ผีสากกะเบือ" เข้าสิงเช่นกัน

จังหวะยิงไกลเหน่งๆ หนแรก ติดเซฟนายด่านเจ้าถิ่น

น.31 ตัดบอลหน้าเขตโทษได้สวยแล้ว โอกาสเปิดให้ล่อเป้าเน้นๆ แล้ว แต่ดันแปด้วยซ้ายหลุดเสาไปเอง

ทดเจ็บครึ่งแรก จังหวะตามเข้าซ้ำลูกยิงของ เอ็นโซ เฟร์นานเดซ ที่กระฉอกมาให้ยิงซ้ำจาก 5 หลา งัดข้ามคานไปอย่างน่าเหลือเชื่อ

ให้หลังอีกแวบเดียว มอยเซส ไคเซโด้ แทงต่อสวยๆ ให้สับไกในจุดอันตราย ก็ยิงเบาเข้ามือนายทวารไปเสียอีก

เมื่อโอกาสทองเหล่านี้ถูกขว้างทิ้งไป เชลซี จึงมีอันต้องพ่ายกลับออกมา

สำหรับนัดสอง เกมแก้มือที่ สแตมฟอร์ด บริดจ์ อังคาร 23 ม.ค.

เชลซี จะพลิกกระดานเข้าชิงได้ ถ้า…

ส่วน โบโร่ ก็จะเข้าชิง คาราบาว คัพ ครั้งประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน ถ้า…

ขอบคุณเนื้อหาจาก 90min.com
https://www.90min.com/th/posts/feature-post-match-analysis-middlesbrough-1-0-chelsea-carabao-cup-2023-24