ป้ายแห่งมนต์ขลัง "This Is Anfield"
หากเอ่ยถึงป้ายแห่งมนต์ขลัง “This Is Anfield” ที่อุโมงค์ทางออกของสนามแอนฟิลด์ แล้ว เชื่อว่าบรรดาแฟนบอลลิเวอร์พูล ย่อมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
เพราะนี่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ที่อยู่กับสนามแอนฟิลด์ มาอย่างช้านาน ก่อนนักเตะจะเดินลงสู่สนาม พวกเขาต้องพบกับป้ายที่ติดตั้งเอาไว้ที่อุโมงค์
ช่วงนี้ เราย้อนความทรงจำ เกี่ยวกับประวัติ และความเป็นมาของป้าย “This Is Anfield” กันหน่อย ลองไปดูกันว่า เพราะอะไรป้าย 4 เหลี่ยม ที่บรรจุข้อความที่แสนทรงพลังนี้ ถึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ และเป็นที่จดจำของแฟนบอลทั่วโลก
นี่ไม่ใช่คำขวัญทั่วไป หรือเป็นกลอุบายทางการตลาด แต่คำพูดนี้ ทำหน้าที่สะท้อนตัวตนของนักเตะ และแฟนบอลลิเวอร์พูล ตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
สำหรับป้าย “This Is Anfield” ถูกนำมาติดตั้งที่สนามแอนฟิลด์ ครั้งแรก ในช่วงยุค’70 จากจุดเริ่มต้นอย่าง “บิลล์ แชงคลีย์” บรมกุนซือของทีม เรื่องราวที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยทราบมาก่อน นั่นคือแชงคลีย์ ไม่ได้เป็นคนริเริ่มโดยตรง แต่เป็นคนที่ขีดเขียนบทสรุป
ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ดูแลสนามแอนฟิลด์ เสนอแนวความคิดเรื่องติดตั้งป้ายกับ “ปีเตอร์ โรบินสัน” ซึ่งเป็นของเลขานุการทีมในเวลานั้น
พร้อมกับเสนอว่า ลิเวอร์พูล ควรมีป้ายข้อความอะไรสักอย่าง ติดอยู่ภายในสนามแอนฟิลด์ ก่อนที่นักเตะทั้งสองทีมจะเดินผ่านอุโมงค์ลงสู่สนามแข่งขัน
ขั้นตอนแรก พวกเขาอยากเสนอคำว่า “Welcome to Anfield” เพื่อเป็นการแสดงการต้อนรับต่อผู้มาเยือน อย่างไรก็ตาม แชงคลีย์ กลับไม่เห็นด้วยอย่างแรง ที่ป้ายจะใช้คำว่า “Welcome to Anfield”
เนื่องจากมองแล้วว่า มันถือเป็นการแสดงออกถึงความอ่อนโยนมากเกินไป ซึ่งเขาอยากให้สนามแอนฟิลด์ กลายมาเป็นนรกของทีมเยือนมากกว่า
โดยบทสนทนาของแชงคลีย์ ที่ถูกเล่าผ่านมัคคุเทศก์ของสโมสร ถูกระบุว่า “ผมไม่ยอมอย่างเด็ดขาด เราจะไม่ใช้ป้ายที่เขียนว่า Welcome to Anfield”
“ฝ่ายตรงข้ามจะไม่ได้มาแข่งที่สนามแอนฟิลด์ พร้อมเก็บเกี่ยวช่วงเวลาที่ดีๆ หรือวันที่แสนพิเศษ ดังนั้น เราเปลี่ยนมาใช้คำว่า This Is Anfield กันเถอะ !!”
แชงคลีย์ เพิ่มเติมว่า “ป้ายนี้ เป็นการย้ำเตือนนักเตะลิเวอร์พูลว่า พวกเขากำลังเล่นเพื่อสโมสร และเป็นการเตือนคู่แข่งว่า พวกเขากำลังเจอกับอะไร”
ซึ่งประโยคสุดท้าย หากใครมีโอกาสไปเยี่ยมชมสนามแอนฟิลด์ หรือติดตามการถ่ายทอดสด ก็จะเห็นประโยคนี้ อยู่บริเวณผนังในอุโมงค์ด้วย
แชงคลีย์ มีความเชื่อมั่นว่าป้าย “This Is Anfield” สร้างแรงกระตุ้นให้กับนักเตะลิเวอร์พูล ในการออกไปต่อสู้ เพื่อแฟนบอลหลายหมื่นคนในสนาม
“ที่นี่แอนฟิลด์” ยังเป็นการทำลายกำลังใจของฝ่ายตรงข้ามได้เป็นอย่างดี เพราะนี่คือคำเตือนว่า พวกเขาเตรียมเจอฝันร้ายตลอด 90 นาที หลังจากหมดยุคการคุมทีมของแชงคลีย์ ผู้จัดการทีมคนอื่นๆของลิเวอร์พูล ก็มีความทรงจำที่ยอดเยี่ยมกับป้าย “This Is Anfield”
บ็อบ เพลสลีย์, โจ เฟแกน, เคนนี่ ดัลกลิช, รอนนี่ มอแรน, แกรม ซูเนสส์ และรอย อีแวนส์ ทั้งหมดที่กล่าวมา เดินนำลูกทีมลงสู่สนาม โดยมีประเพณีแตะป้ายดังกล่าว ก่อนลงไปบรรเลงเพลงแข้ง ถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยที่สำคัญ
กาลเวลาผ่านไป ป้ายข้อความอย่าง “This Is Anfield” ในแบบฉบับดั้งเดิม ถูกติดตั้งอยู่ที่อุโมงค์ของสนามแอนฟิลด์ ระหว่างปี 1974 จนถึงปี 1998 ช่วงเวลานั้น ลิเวอร์พูล เดินหน้ากวาดแชมป์แชมป์ลีก 10 สมัย, เอฟเอ คัพ 3 สมัย, ลีก คัพ 5 สมัย, ยูโรเปี้ยน คัพ 4 สมัย
อาจกล่าวได้ว่า ป้าย “This Is Anfield” เป็นสักขีพยานในความสำเร็จของสโมสรมาอย่างยาวนาน และกลายเป็นเครื่องรางของขลังที่มีผลต่อจิตใจ
หลังจากปี 1998 ลิเวอร์พูล ทำป้ายแบบฉบับใหม่ขึ้นมา โดยมีการปรับสัญลักษณ์ของ “หงส์แดง” ให้มีความทันสมัยขึ้น
แน่นอนว่า รูปแบบป้ายที่ร่วมสมัย ย่อมต้องแลกมาด้วยมนต์ขลังในวันวานที่จางหายไปเช่นเดียวกัน สำหรับจุดเปลี่ยนสำคัญ เกิดขึ้นในปี 2012 “เบรนแดน ร็อดเจอร์ส” ถูกประกาศเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ของลิเวอร์พูล
งานแรกๆ ที่ร็อดเจอร์ส เริ่มลงมือทำ นั่นคือการหยิบป้าย “This Is Anfield” ในแบบฉบับดั้งเดิม ออกมาปัดฝุ่นใหม่ และติดตั้งในอุโมงค์อีกครั้ง
ร็อดเจอร์ส มองว่า ป้ายข้อความ “This Is Anfield” คือความสำเร็จของลิเวอร์พูล ในยุคเรืองรอง พร้อมกับเป็นสัญลักษณ์ของแอนฟิลด์ ในสมัยก่อน
นี่คือสิ่งที่ร็อดเจอร์ส คาดหวัง นั่นคือการนำขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม กลับมาสู่สโมสรแห่งนี้ หลังจากห่างหายไปนาน โดยร็อดเจอร์ส กล่าวว่า “ป้ายข้อความ This Is Anfield แบบดั้งเดิม ถูกยกเลิกในช่วงปี 1998 หลังจากถูกใช้งานมาตั้งแต่ปี 1974”
“นี่คือสัญลักษณ์ของสนามแอนฟิลด์ ในยุคก่อน แม้เราจะอยู่ในยุคปัจจุบัน แต่เราต้องไม่ลืมอดีตที่ยิ่งใหญ่ และป้ายนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลานั้น การคืนชีพป้าย This Is Anfield แบบดั้งเดิม ถือเป็นการคืนวันเวลาดีๆให้กับสนามแอนฟิลด์ นี่คือหนึ่งสนามที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ฟุตบอล”
หลังจากที่ป้าย “This Is Anfield” ถูกใช้อย่างยาวนานที่สนามแอนฟิลด์ นักเตะเจ้าบ้าน, นักเตะทีมเยือน และผู้เยี่ยมชม ต่างอยากใช้มือสัมผัสมัน
กระทั่งการมาของเยอร์เก้น คล็อปป์ ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนความเชื่อที่มีต่อป้ายดังกล่าวไปอย่างสิ้นเชิง หากลองย้อนกลับไปสมัยก่อน นักเตะลิเวอร์พูล สามารถใช้มือสัมผัสกับป้ายได้ตามที่ใจต้องการ
อย่างไรก็ตาม กุนซือชาวเยอรมัน กลับมองว่า ป้ายนี้ควรถูกใช้ในการเพิ่มแรงจูงใจ และแรงปรารถนาอันแรงกล้า คล็อปป์ กระตุ้นเตือนลูกทีมทุกคนว่า พวกเขาสามารถใช้มือสัมผัสป้าย “This Is Anfield” ก็ต่อเมื่อพาลิเวอร์พูล คว้าแชมป์มาครองได้แล้วเท่านั้น
ส่วนหนึ่งในแนวความคิดของคล็อปป์ คือทุกคนควรจะให้เกียรติกับป้ายนี้ ด้วยการทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกาย เพื่อจะได้สัมผัสมันด้วยความภูมิใจ
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ลูกทีมของคล็อปป์ พยายามคว้าแชมป์มาครอง เพราะทุกคนล้วนอยากเป็นส่วนหนึ่งกับป้ายนี้
นี่คือเรื่องราวทั้งหมดของป้าย “This Is Anfield” ที่เริ่มต้นจากของบิลล์ แชงคลีย์ โดยที่หลังจากนั้น กาลเวลาผ่านไปนานกว่า 50 ปี ผ่านผู้จัดการทีม 13 คน, นักเตะนับไม่ถ้วน และเกียรติยศมากกว่า 40 รายการ
โดยไม่ว่าสนามแอนฟิลด์ จะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน จากทางเดินในอุโมงค์ที่คับแคบแบบขั้นบันได สู่ทางเดินสุดกว้างขวางในปัจจุบัน
หนึ่งสิ่งที่มั่นใจได้คือ ป้ายข้อความอย่าง “This Is Anfield” ยังคงทำหน้าที่มอบกำลังใจให้นักเตะลิเวอร์พูล และขย่มขวัญฝ่ายตรงข้ามต่อไปอย่างไม่รู้วันจบ
ขอบคุณเนื้อหาจาก Thsport.com