บทความ Tactical Analysis วิเคราะห์การเล่นของทีม จากพื้นฐานที่เราใช้การตั้งเกมในรูปแบบปัจจุบันอยู่ เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างที่เป็นจุดอ่อนของแผนนี้ และจะมีวิธีแก้ยังไง นี่คือข้อสังเกตคร่าวๆในประเด็นนี้
หลายคนคงจะรู้กันเป็นอย่างดีว่า แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด มีฟอร์มการเล่นที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ เรื่องการขาดความแน่นอนในการเล่น ฟอร์มขึ้นๆลงๆที่ยังไม่เสถียร และการขาดประสิทธิภาพอีกหลายๆด้านที่ปีศาจแดงยังต้องแก้ไขปรับปรุงอยู่อีกหลายด้าน เพื่อเป็นการชี้ให้เห็นถึงปัญหา รวมถึง “หาวิธีแก้” ให้แมนยูไปด้วยในตัว ดังนั้นเราจึงอยากชวนท่านผู้อ่านพูดคุยปัญหาของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในเรื่องแทคติกกัน ว่ามีอะไรบ้างที่ติดขัดอยู่และจะแก้อย่างไร
ตอนแรกนี้ขอนำเสนอปัญหาในด้านความไม่แน่นอนของทีม เรื่องของการ “โดนโต้กลับเร็ว” ในจังหวะtransitionของคู่แข่ง ที่ได้บอลเปลี่ยนจากรุกเป็นรับ เป็นประเด็นที่น่าหยิบมาวิเคราะห์กันในวันนี้
1. ประเด็นปัญหา
หลายๆครั้งจะเห็นเลยว่าแมนยูเวลาพลาดเสียบอล โดนตัดบอล มักจะถูกโต้กลับเร็วทันที ซึ่งก็สร้างความยากลำบากเสมอให้กับทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวรับของยูไนเต็ด มักจะต้องเจอการโต้เร็วในจังหวะเปิด ที่คู่แข่งเต็มไปด้วยความเร็ว ความแม่นยำในการต่อบอล และมักจะถูกต่อบอลสวนขึ้นมาจนได้จบที่การมีโอกาสยิงแทบทุกครั้ง
เพราะอะไรปัญหานี้ถึงเกิดขึ้นบ่อย และเมื่อเกิดขึ้นก็มักส่งผลเสียหายกับทีมอยู่เป็นประจำ?
เรื่องนี้คนหนึ่งที่เห็นปัญหา คือ โธมัส ทูเคิล ที่พูดเอาไว้ก่อนเกมUCLนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่มที่ผ่านมาดังนี้
“บางครั้งพวกเขาก็build-upด้วยนักเตะแค่4คน เพื่อให้อีก6คนดันเกมสูงขึ้นหน้า มันบ่งบอกให้ผมรู้ว่าทำไมพวกเขาถึงอันตราย ขณะเดียวกันก็สามารถโดนเล่นงานได้ด้วย counter attacks, บางทีพวกเขาก็ดูเปราะบาง”
ในเกมนั้น ทูเคิลก็ทำอย่างที่พูดจริงๆ สามารถใช้จังหวะ transition ให้เป็นประโยชน์ในการโต้กลับ และบุกสวนแมนยูขึ้นมาได้หลายๆครั้งอย่างอันตราย
2. ลักษณะของปัญหา
ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้มีสามอย่างที่น่าสนใจ นั่นก็คือ เรื่องการใช้นักเตะจำนวนน้อยๆเล่นbuild-up / เหตุผลเรื่องที่ว่า ทำไมเราถึงถูกโต้กลับเร็ว / และ จุดอ่อนที่เกิดขึ้นมามีอะไรบ้าง
แยกดูทีละเรื่องดังนี้
2.1 การใช้ตัวผู้เล่นปริมาณน้อยๆ build-up
ข้อนี้จะเห็นได้ประจำในภาคการเล่นของทีม ด้วยการที่ใช้นักเตะเซ็ตบอลเพียงไม่กี่คนเป็นหลัก จากฐานการเล่นด้านล่าง ตั้งเกมขึ้นหน้าไปบุกใส่คู่แข่ง
หลักๆแล้วโครงสร้างจะเป็นแบบนี้คือ สองเซ็นเตอร์(2)+กลางต่ำ(1)+ตัวช่วยจากตำแหน่งอื่นๆ(1) รวมๆแล้วทีมจะใช้ฐานการเซ็ตบอลประมาณ 4-5 คน ถ้าโดนเพรสหน่อยก็อาจจะมีคนถอยลงมาช่วยเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นแบ็คหรือมิดฟิลด์อีกหนึ่งคน มากสุดจะมีแค่ 5 ไม่เกินนี้
ภาพที่เราเห็นกันชินตาก็คือ กลางต่ำจะถูกใช้งานเป็น Half-back เหมือนอัมราบัตในภาพนี้ ดรอปต่ำลงไปช่วยกองหลังที่เป็นเซ็นเตอร์สองคนเซ็ตเกม เหมือนมีฐานสามคน โดยอีกหนึ่งคนอาจจะเป็น แบ็คหนึ่งฝั่งที่ห้อยต่ำไว้ หรือ อาจจะมีมิดฟิลด์ตัวตั้งเกมอีกหนึ่งคนที่ทำหน้าที่เป็น “6 กึ่ง 8” ถอยลงมารับบอลด้านข้างแทนแบ็ค อีกหนึ่งตัว ลักษณะก็จะเป็นแบบในภาพข้างบนนี้เลย ที่มีผู้เล่นอยู่แค่ 3+1 นอกนั้นอีก 6 คนดันขึ้นหน้าไปหมด จะไม่ถอยต่ำรอเซ็ตบอล
ลองคิดตามว่า เมื่อเราใช้นักเตะไม่กี่คนที่ว่านี้เล่นตั้งเกมจากแดนหลัง เพราะงั้นตัวเล่น 4-5 คนนี้ต้องห้ามพลาดในจังหวะ build-up เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นด้านหลังจะอันตรายทันที เพราะพื้นฐานการทิ้งผู้เล่นไว้แดนล่าง ทีมเราเหลือตัวเล่นน้อยอยู่แล้ว ถ้าพลาดเสียบอลกลางทาง หลังบ้านจะอันตรายมากและเล่นงานได้ด้วยเกมเคาท์เตอร์อย่างที่ทูเคิลบอก
2.2 เหตุผลที่ถูกโต้กลับเร็ว
สาเหตุของการโดนโต้กลับเร็ว หลักๆก็มาจากจังหวะ transition ล้วนๆ ซึ่งก็เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นที่ว่า ทีมเสียการครองบอลให้คู่ต่อสู้ จึงมักจะโดนโต้กลับในยามที่เรากำลังตั้งเกม และดันผู้เล่นขึ้นหน้าไปแล้ว หลายๆครั้งจึงลงมากันไม่ทัน
หลักๆคือเรื่องความไม่แน่นอนในการ build-up เป็นเหตุผลหลักที่เจอโต้กลับเร็วบ่อยๆ ด้วยต้นเหตุหลายอย่างดังนี้ เช่น..
จ่ายบอลกันไม่แน่นอน / โดนคู่แข่งเพรสและหนีไม่พ้น / ความผิดพลาดส่วนตัว นักเตะขาดความระมัดระวัง / ปริมาณตัวช่วยในการเซ็ตบอลมีน้อยเลยเสียเปรียบคู่แข่ง
ผลสืบเนื่องมาจากสิ่งต่างๆเหล่านี้ ทำให้ทีมมีความเสี่ยงสูงมากเวลาโดนโต้กลับ ด้วยสองกรณีนี้
กรณีแรก : เนื่องจากใช้ผู้เล่นน้อย ตัวช่วยมีจำกัด ตัวอื่นๆโหลดขึ้นหน้าหมดแล้ว ทำให้เรื่อง “ปริมาณ” อาจจะด้อยกว่าคู่แข่งทันที ในกรณีที่เจอคู่ต่อสู้ดันเกมมาเล่นเพรสซิ่งแดนบนใส่เราเต็มตัว
เคสนี้เห็นได้ชัดจากปัญหาในเกมที่แพ้บอร์นมัธ 0-3 พยายามจะครองบอลตาม game plan ในวันนั้น แต่โดนเพรสซิ่งเล่นงานจนมีปัญหาอย่างที่เห็น จังหวะ transition play ของบอร์นมัธเล่นงานแมนยูไนเต็ดเละเทะไม่เป็นท่า ลูกแรกชัดเจนว่าเล่นเร็ว ส่วนลูกสองเป็นปัญหาจากการ build-up พลาด
กรณีที่สอง : นอกจากเรื่องปริมาณที่ว่าแล้ว ก็คือเรื่องคุณภาพของเราเองที่ขาดความแน่นอนในการให้บอลออกบอล และสร้างข้อผิดพลาดเกิดขึ้นบ่อยๆในการเล่น build-up ลูก1และลูก2ในเกมแพ้บอร์นมัธคือชัดเจนมากที่ถูกตัดบอลสวนกลับขึ้นมาทำประตูได้ทั้งสองลูก นอกจากจะทำให้หมดโอกาสในการบุกขึ้นไปทำประตูคู่แข่งแล้ว ยังกลับจะเสียประตูซะเอง
การเสียบอลในจังหวะตั้งเกม และโดนเล่นtransition play มีความเสี่ยงเรื่องของ “การดันไลน์กองหลังสูง” ในระหว่างตั้งเกมด้วย ยิ่งเซ็ตบอลกันขึ้นมาสูงเท่าไหร่กลางสนาม หากเสียบอลกลางทางก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น
2.3 จุดอ่อนที่เกิดขึ้นมามีอะไรบ้าง
ปัญหาที่เห็นบ่อยๆจากการที่ทีมมีตัวเล่น build-up แดนหลังน้อยๆ และโดนโต้กลับขึ้นมา จุดที่แย่ที่สุดคือ “พื้นที่เปิด” จะปรากฏขึ้นมาเยอะมากๆ จากภาพข้างบนนี้ก็จะเห็นเลยว่า เมื่อตัวเล่นไลน์หลังสุดของเรามีเพียงแค่ 3-4 คน ขณะที่คู่แข่งได้โต้กลับขึ้นมา พื้นที่เปิด (Open spaces) จะเปิดขึ้นมาเพียบ ซึ่งปกติแล้วเราจะต้องใช้นักเตะปริมาณมากและยืนกันแน่นๆเพื่อที่จะ handle ปกปิดปัญหาตรงนี้ไม่ให้เกิดขึ้นด้วยการยืนตำแหน่งให้แน่นและเต็มทุกพื้นที่
เมื่อนักเตะเหลือน้อยลง+คู่แข่งมีอิสระในการเลือกโต้กลับได้หลากหลายทาง พื้นที่เปิดในวงกลมสีเหลืองอย่างเช่นจังหวะตัวอย่างของรูปนี้ จะมีช่องและพื้นที่ให้เล่นเยอะมากจริงๆ ช็อตนี้แฮรี่ เคน(1) ที่ถือบอลอยู่ถ้าพลิกบอลจ่ายมาทางตัวเล่นหมายเลข 2 และ 3 ได้ โอกาสเสียประตูจะมีสูงทันที พื้นที่เปิดจึงเป็นเหมือนจุดตายต่อแทคติกที่เล่น build-up ด้วยตัวเล่นน้อยๆและโดนโต้กลับมาในจังหวะแบบนี้
อย่างในภาพข้างล่างนี้คงไม่ต้องบอกว่าบรรลัยขนาดไหน
หากยูไนเต็ดพลาดกับทีมที่มีประสิทธิภาพการเล่นสูง มีความสามารถในการต่อบอลทำเกมที่เฉียบคมแม่นยำ และมีจินตนาการในการเล่นเยอะๆ ยิ่งคุณเปิดสเปซให้คู่แข่งเห็นทางเลือกเยอะเท่าไหร่ โอกาสของเขาก็จะยิ่งมากตามไปด้วยเป็นเท่าตัว ยกตัวอย่างข้างล่างนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องพื้นที่เปิด แต่เป็นไอเดียการเล่นที่คู่แข่งโต้ขึ้นมาใน open space แบบนี้ สามารถเลือกทางเล่นได้มากมายมหาศาลตามจำนวนลูกศรสีแดงในเบื้องต้นนี้เลย มีทางเลือกแม้กระทั่งพื้นที่เปิดริมด้านข้างบริเวณ half-space + right flank ที่ตัวขวาอ้อมขึ้นไปรับบอลได้ด้วย
พื้นที่เปิด + คู่แข่งมีจินตนาการเกมรุกดีๆ = ประตู
เมื่อผนวกกับปัญหาในข้อ 2.2 ที่เรามักจะโดนโต้ในจังหวะที่หลังลอยขึ้นมาในช่วงเกม build-up ขึ้นมากลางสนามแล้ว นอกจากตัวเล่นที่เหลือน้อยกว่าในการ track back ลงไปป้องกันแล้วนั้น การดันสูงขึ้นมาก็ยิ่งทำให้คู่แข่งมีพื้นที่เล่นเยอะกว่าเดิมเข้าไปอีก
3. วิธีการแก้ปัญหา
อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นเลยว่า จุดตายของการเล่น build-up ด้วยตัวผู้เล่นน้อยๆ และยังขาดความแน่นอนในการเล่น ซึ่งทำให้มีโอกาสโดนโต้กลับนั้น มันเสี่ยงมากแค่ไหน นอกเหนือจากเราจะชี้จุดบกพร่องในเรื่องนี้แล้ว วันนี้เราก็จะต้องมาหาวิธีแก้ปัญหาให้กับเอริค เทน ฮาก ด้วยว่า มันมีอะไรบ้างที่จะแก้ไขเรื่องนี้ได้
ในเบื้องต้นมีตัวอย่างของการแก้ปัญหาในบางประการแบบคร่าวๆดังนี้
3.1 ใช้ตัวตัดเกม/ตัวชะลอเกม ใส่เข้ามาในสมการ
หากในกรณีที่ทีมยังมั่นคงกับ procedure (ระเบียบการเล่น) แบบนี้ วิธีแรกที่จะช่วยเรื่องนี้ได้ก็คือ จะต้องใส่ “ตัวตัดเกม” ลงมาในสมการ เพราะปัญหาหลักในตอนนี้ที่เห็นชัดๆคือ เวลาแมนยูเสียการครองบอล หรือโดนคู่แข่งเล่นโต้กลับมาบ่อยๆ ไม่มีนักเตะคนไหนที่จะเข้าไปตัดเกมได้ดีเลย ขาดคนชะลอเกมเวลาโดนสวนขึ้นมา
แล้วพอปล่อยให้คู่แข่งเล่นได้ตามใจชอบ สุดท้ายก็ต้านไม่อยู่ มักจะเสียประตูอยู่บ่อยๆ อันเกิดมาจากการปล่อยให้คู่แข่งเล่นตามใจชอบนั่นเอง ดังนั้นการแก้ปัญหาเวลาโดนโต้ ก็ต้องหาคนมาหยุดเกมเหล่านี้ให้ได้
นักเตะที่เป็นตัวตัดเกมธรรมชาติที่ดีที่สุดคนหนึ่งบนโลกฟุตบอล ก็คือ “คาเซมิโร่”
ด้วยอายุอานามที่มากขึ้น เราคงคาดหวังให้คาเซมิโร่มาปัดกวาดขยะคนเดียวไม่ไหว แต่อย่างน้อยหากว่ามีคาเซอยู่ในสนามบ้าง เกมรับหน้าแผงหลังก็จะแน่นกว่านี้อย่างที่เราเห็นกัน
เพราะงั้นหากว่ามีคาเซมิโร่เป็นหนึ่งในตัวเล่นที่รองเป็นฐานด้านหลังให้ทีม จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ส่วนหนึ่ง ส่วนอัมราบัตเองก็ถือว่ามีความขยันวิ่งคัฟเวอร์พื้นที่ได้ดี มีเกมรับติดตัวอยู่พอประมาณ แต่แกไม่ใช่กลางต่ำที่ตัดเกมได้เก่งๆ อัมราบัตเป็นตัวโฮลดิ้งที่เน้นการครองบอลเชื่อมต่อเกมให้ทีมมากกว่า / ค็อบบี้ ไมนู เด่นที่การเป็นตัวคุมจังหวะสร้างสรรค์เกม ดังนั้นคนที่จะตัดเกมตรงนี้ได้เด่นชัดก็จะมีคาเซมิโร่เป็นหลัก
แต่ก็ยังเหลือวิธีอื่นอยู่ด้วยในกรณีที่ไม่มีคาเซมิโร่อยู่ในสนาม
วิธีแก้ขัดก็คืออาจจะกำชับแทคติกให้อัมราบัตหรือค็อบบี้ ไมนู คอยช่วยตัดเกมด้วย ร่วมกันกับพวกตัวป้องกันเซ็นเตอร์อย่าง “แบ็คทั้งสองฝั่ง” ถ้าจังหวะที่ถอยลงไปป้องกันตอนโดนสวน ถ้าหุบเข้ามาช่วยตัดเกมได้ก็กรุณาทำด้วย
นักเตะอีกคนที่สามารถช่วยในเคสนี้ได้ นอกจากคาเซมิโร่แล้วก็คือ “อารอน วานบิสซาก้า” นั่นเอง ที่มีทั้งความเร็ว และความมั่นใจมากในการเข้าแทคเกิล แตกต่างจากแบ็คและกลางต่ำคนอื่นๆในทีมทั้งหมด หากจะหาตัวตัดเกมคูแข่งดีๆ กาเซมิโร่กับอารอนนี่แหละคือตัวแปรสำคัญในแทคติกเกมที่ต้องหยุดเกมรุกคู่แข่งให้ได้
ทีมจะไม่โดนบุกเป็นน้ำป่าทะลักขนาดนั้น ถ้ามีตัวตัดเกมคอยทำหน้าที่หยุดคู่แข่งตรงนี้ไว้
3.2 ปรับ Build-up Structure แก้ที่โครงสร้าง และเพิ่มปริมาณ”ฐาน” การตั้งเกม
ในกรณีปัญหาหลักๆของเรื่องนี้ มันคือเรื่องของปริมาณเป็นหลักเลย สำคัญกว่าข้อแรกตัวตัดเกมอีก คือจำนวนผู้เล่นในการที่เอริค เทน ฮาก จะใช้สร้าง build-up play ให้เกิดขึ้น อย่างน้อยๆควรจะมี 5 ตัวเป็นฐาน
อย่างที่เราเห็นอาร์เซนอลและซิตี้ใช้ พวกเขาเหล่านั้นเล่นโครงสร้าง “3-2” เป็นหลัก (หลังสาม กลางต่ำสอง) โดยอาร์เตต้าจะใช้เป็น Inverted Wing-back หุบเข้ามาช่วยDMอย่างไรซ์ / ส่วนเป๊ป ในปีก่อนก็จะเห็นการดัน สโตนส์ ขึ้นมาเป็นกองกลางตัวที่สองเคียงข้างโรดรี้ ทรงฐานจะมี 5 คนในโครงสร้าง 3-2 เสมอ อย่างในภาพตัวอย่างข้างบนนี้
จริงๆเรื่องโครงสร้างเราไม่จำเป็นต้องเล่น 3-2 แบบสมัยนิยมก็ได้ คุณจะถอยแบ็คสองข้างดรอปลงมาต่ำกว่าเดิมเพื่อช่วย build-up เพิ่มก็ไม่มีปัญหา ในลักษณะทรง 4-1 (หลังสี่กลางต่ำหนึ่ง) หรือ 2-3 (2CB + 3กลางต่ำและแบ็คสองข้าง)ก็ได้ทั้งนั้น ขอให้ปริมาณตัวเล่น build-up เยอะกว่า 4 คนหน่อยก็ช่วยได้แล้ว
คำถามต่อมาก็คือ แล้วมีประโยชน์อย่างไรบ้างในการปรับโครงสร้าง เพิ่มฐานbuild-up ให้กลายเป็น 5 คนอย่างต่ำ?
ตัวอย่างง่ายๆมีดังนี้
3.2.1 ทีมจะเซ็ตบอลกันได้แน่นอนมากขึ้น ไม่เสียบอลกลางทางง่ายๆ เนื่องจากมีตัวเล่น build-up คอยช่วยกันหลายๆคน
หากมีตัวต่อบอลเยอะ ทีมก็จะไม่ต้องรีบร้อนโยนยาวขึ้นหน้าให้เสี่ยงเสียบอลแบบนั้น(ลดปริมาณความเป็นdirect / เพิ่มสัดส่วนของ pass per sequence) คนยิ่งเยอะ ยิ่งเสียยาก / หนีเพรสได้สะดวกขึ้น บอลเซ็ตขึ้นหน้าก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพ
และนั่นคือผลต่อเนื่องที่จะทำให้เกมรุกของเราได้โอกาสไปทำเกมบุกเยอะขึ้นกว่าเดิมด้วย ไม่ใช่ยังไม่ทันทำอะไรก็เสียบอลกลางทางแล้ว
3.2.2 เมื่อถึงเวลาที่เสียบอลจริงๆ จะมีตัวอยู่ช่วยป้องกันเยอะขึ้น พื้นที่ว่างจะเหลือน้อยลง
หากแดนหลังมีนักเตะอยู่ประมาณนึง ไม่เหลือน้อยจนเกินไป จะทำให้มีตัวผู้เล่นป้องกันพื้นที่เพิ่มขึ้น จุดตายของการเกิด Open spaces พื้นที่ว่างปริมาณมหาศาลอย่างที่โดนๆอยู่ ก็จะเกิดขึ้นน้อยลง คู่แข่งก็จะขึ้นมาเจาะใส่พื้นที่ว่างได้ยากขึ้น
เมื่อไม่มีช่องให้คู่แข่งเจาะ เกมรับก็จะปลอดภัยมากกว่าเดิม ตัวเล่นที่ถอยลงมาช่วยก็จะมีมากขึ้น
หลักคิดแบบง่ายๆ เบสิคๆ แต่จริง
4. สรุป
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ คือการชี้แจงให้เห็นถึงปัญหาการเล่นเพียงแค่พาร์ทเดียวของแมนยูไนเต็ด จากจุดอ่อนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็ต้องขอบคุณที่ทูเคิลกรุณาพูดให้เห็นภาพว่าชาวบ้านเค้าเห็นช่องโจมตีเรากันหมดแล้ว(ฮา)
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ของจริงมันก็ใช่ว่าคู่แข่งจะมาทำใส่เรากันได้ง่ายๆตลอดไปขนาดนั้น มันจะดีกว่าถ้าเรารับรู้ปัญหาของตัวเองที่มีอยู่ว่า บกพร่องเรื่องอะไรบ้าง และป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นก็คงจะดีกว่านี้
ในฐานะแฟนบอลคนหนึ่งเชื่ออยู่แล้วว่า เอริค เทน ฮาก คงจะมีเหตุผลในการเลือกใช้แทคติกในลักษณะแบบนี้ ด้วยรูปแบบของวิธีการที่เขาต้องการติดตั้งให้ทีมเล่น ถึงเวลาจริงๆหากว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร
ส่วนตัวผู้เขียนก็เลือกที่จะให้เกียรติและพยายามทำความเข้าใจเขา มากกว่าที่จะบอกว่า สิ่งที่เราเขียนนี่คือถูกต้องแล้ว / เอริค เทน ฮาก วางแผนผิด
สิ่งที่เขียนนี้เป็นเพียงแค่การลองวิเคราะห์จากข้อสังเกตและ “สมมติฐาน” (Hypothesis) ที่เราตั้งขึ้นเท่านั้นเองว่า มันเป็นแบบนี้ๆๆหรือเปล่าเลยทำให้เกิดปัญหาขึ้น
หลายๆส่วนที่เขียนในนี้ มันก็เกิดขึ้นจริงๆจากการสังเกตได้ในสนาม แต่ในภาคการแก้ไขของจริงนั้น มันต้องแก้ให้ได้ตั้งแต่ชุดความคิดของนักเตะ ลงดีเทลในแต่ละจุดให้ละเอียดกว่านี้ และต้องทำให้ได้จริงด้วย
ซึ่งอันหลังสุดนี่แหละยาก คือการทำให้ได้จริง เพราะของจริงมันไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างที่เราคุยกันแบบนี้ เช่น จะทำยังไงให้การเซ็ตบอลมันไม่เสียกลางทาง ข้อนี้หน้างานจริงๆมันไม่ง่าย ถ้าคู่แข่งเขาบีบพื้นที่ดีๆ และถึงเวลาเล่นจริงๆบอลไม่เป็นใจ การตัดสินไม่เป็นใจ โชคไม่เข้าข้าง จังหวะและโอกาสไม่มา มันก็ยังมีโอกาสผิดพลาดอยู่ดี
ปรับโครงสร้างวิธีการเล่น รูปแบบการยืน ก็ต้องใช้เวลาฝึกซ้อม ปรับแผน ปรับความเข้าใจนักเตะอีก ใช่ว่าใส่ระบบลงไปแล้วมันจะใช้งานได้เลยทันทีทันใด ขนาดเล่นเกมอย่าง Football Manager ยังต้องใช้เวลาให้นักเตะคุ้นเคยแผนเลย ของจริงยิ่งไม่ต้องพูดถึง
ปัญหาในเชิงโครงสร้างหลักแบบนี้ต้องใช้ “เวลา” ในการแก้ไขพอสมควร
เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่เราคุยกันมันเป็นเพียงแค่ทฤษฎีและการตั้งข้อสังเกตเท่านั้น หน้างานจริงๆมีปัจจัยอีกมากมายที่ส่งผลกระทบต่อฟุตบอลอีกมากมาย สิ่งที่เราทำได้ในจุดนี้คือการศึกษารายละเอียดให้เข้าใจมากที่สุด เพื่อที่ว่าถึงเวลาที่เชียร์จริงๆเราจะได้เข้าใจปัญหาหรือจุดบกพร่องของทีมได้มากขึ้นกว่าเดิม การเชียร์ทีมก็จะถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะถูกต้องและยุติธรรมกับคนทำงานมากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นเอง
และทั้งหมดนี้คือเนื้อหาเพียงแค่บางส่วนของปัญหาเท่านั้น หากมีจุดบกพร่องไหนอีกจะนำมาเขียนต่อในโอกาสต่อไป
อย่าเพิ่งท้อในเวลาที่ทีมกำลังย่ำแย่แบบนี้ เชียร์กันต่อไปครับ
#BELIEVE
-ศาลาผี-
ขอบคุณเนื้อหาจาก Thsport.com