สัปดาห์ที่แล้ว ดาบิด ราย่า มีการให้สัมภาษณ์กับ ดิ แอตเลติก เกี่ยวกับช่วงเวลาของเขากับอาร์เซนอล และเหตุผลในการเลือกย้ายมาร่วมงานกับทีมปืนใหญ่ คราวนี้ก็มาถึงคิวของ อารอน แรมสเดล (25 ปี สัญญาถึงกลางปี 2026 พร้อมออฟชั่นขยายเพิ่มอีกหนึ่งปี) มาพูดถึงสถานการณ์ของเขากันบ้าง
แรมสเดล กลายเป็นตัวสำรองในเกมพรีเมียร์ ลีกมาแล้ว 4 เกมติดต่อกัน โดยลงเล่นในเกมล่าสุดคือเกม ลีก คัพ ที่ทีมเอาชนะ เบรนท์ฟอร์ด 1-0 ซึ่งก็ต้องย้อนไปถึงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในขณะที่รอบเบรกทีมชาติครั้งล่าสุดของเขากับอังกฤษ ก็ไม่ได้มีส่วนกับเกมในสนามมากไปกว่าการนั่งเป็นผู้ชม
นับเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับเขาเพราะนี่เป็นครั้งแรกนับจากปี 2017-2018 ที่เขาเริ่มได้รับโอกาสลงเล่นในทีมชุดใหญ่ของ เชสเตอร์ฟิลด์ ทีมในลีกทู เป็นครั้งแรก นับจากนั้นเขาก็พัฒนาตนเองเรื่อยมาจนกลายเป็นมือหนึ่งถาวรในทุกสโมสรที่เขาย้ายไปร่วมงาน รวมถึง อาร์เซนอล กับสองปีแรกของเจ้าตัว จนกระทั่งการมาถึงของ ราย่า ที่ทำให้สถานะของเขาสั่นคลอนอย่างหนักในฤดูกาลนี้ และเขาออกมายอมรับอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องนี้
“แน่นอนมันเจ็บปวดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มันเป็นครั้งแรกที่มันเกิดสถานการณ์นี้กับตัว มันเป็นช่วงเวลาที่ผมต้องการทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่มันก็เป็นสิ่งที่ผิดไปหมด แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยมันก็เป็นสิ่งที่ผิดเช่นกัน มันกลายเป็นดาบสองคมสำหรับผม”
“มันเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจกันเยอะมาก คนที่มีชื่อเสียงเคยพูดว่า ถ้าไม่มีใครพูดถึงคุณเลย แสดงว่าคุณทำงานของตัวเองได้ดีแล้ว แต่ตอนนี้มันกลับมีคนมาพูดถึงเรื่องของผมกับ ดาบิด ซึ่งเราต่างก็ต้องการลงเล่น และต้องการมีสมาธิกับเกมการแข่งขัน มันเป็นเรื่องที่แปลกมากกับสิ่งที่พาดหัวข่าวเอามาพูดถึงเรื่องของเราสองคน และเราทั้งสองคนต้องรับมือกับมัน”
“เรากำลังทำงานร่วมกันในระดับสโมสร ผู้จัดการทีมเลือกเราสองคนมานั่นคืองานของเรา กับดาบิด เราต่างใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงต่อวันในการทำงานด้วยกัน มีกัน 4-5 คนทำงานเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในการฝึกซ้อมนายทวาร ถ้าความสัมพันธ์ของเราไม่ดี มันไม่มีทางออกมาเวิร์คหรอก”
“เราทำงานกันอย่างมืออาชีพมากทั้งคู่ ต่างผลักดันกันและกันในการซ้อม ในวันที่ผมไม่ค่อยโอเคเท่าไร เขาก็คอยช่วยเหลือผม และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันก็อาจมีวันที่เขาผิดพลาด และรู้สึกแย่ ผมเองก็ต้องช่วยเขาผลักดันเขา แม้ว่าตัวเองจะเจ็บปวดที่ไม่ได้ลงเล่นก็ตาม”
นอกจากนี้ แรมสเดล ยังยอมรับว่าเขามีความกังวลกับการสูญเสียตำแหน่งในทีมชาติอังกฤษ ซึ่งในเกมที่พบกับ ออสเตรเลีย แกเร็ธ เซาธ์เกต เลือก แซม จอห์นสตัน นายทวารจากคริสตัล พาเลซ ลงเล่นเป็นตัวจริง รวมถึงเลือก แฮร์รี่ แมคไกวร์ และ คัลวิน ฟิลลิปส์ ที่ไม่ค่อยได้รับโอกาสในนามสโมสร ลงเล่นตัวจริง ขณะที่ตัวเขาไม่ได้รับเลือกให้ลงเล่น
“ผมกังวลกับการเสียตำแหน่งในทีมชาติอังกฤษไหม แน่นอนผมกังวล มันเป็นครั้งแรกที่ผมเจอกับเรื่องแบบนี้ ตอนนี้ผมต้องการกลับไปยังสโมสร ทำงานของตัวเอง และสร้างความปวดหัวให้กับผู้จัดการทีม ผมต้องทำงานอย่างหนัก เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น เขาก็ตัดสินใจเลือกทีมได้ง่าย”
การเข้ามาของ ดาบิด ราย่า นับเป็นประสบการณ์ใหม่ของ แรมสเดล หลังจากตลอดช่วงชีวิตของเขาในระดับอาชีพ เขาอยู่ในสถานะของ “ผู้ล่า” คนที่อยู่ด้านหน้าตนเอง เขาเคยไล่แซง อาเธอร์ โบรุค สมัยยึดมือหนึ่งที่บอร์นมัธ และไปเป็นมือหนึ่งแบบการันตีตัวจริงกับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ในเวลาต่อมา รวมถึงการย้ายมาด้วยค่าตัว 24 ล้านปอนด์ และเบียดแย่งมือหนึ่งมาจาก แบนด์ เลโน่ ที่อาร์เซนอล และมันไม่แปลกเลยที่เขาจะพูดว่าเป็นสถานการณ์ใหม่สำหรับเขากับการเป็น “ผู้ถูกล่า” เสียเอง และนั่นคือสิ่งที่เขาต้องยอมรับมันในฐานะของมืออาชีพ
ก่อนหน้านี้ ดาบิด ราย่า ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเลือกย้ายมาร่วมงานที่อาร์เซนอล ด้วยเหตุผลทั้งในเรื่องของโอกาสในการพัฒนาตัวเองที่เขาเลือกจะมองหาโอกาสใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม อาร์เซนอล ให้ความสนใจเขามานานพอสมควร เมื่อในทีมมี อินากิ กาน่า โค้ชนายทวารที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนอยู่ในทีม ขณะที่ราย่ารอคอยจนกระทั่งสัญญาเข้าสู่ปีสุดท้ายเพื่อโอกาสในการย้ายทีมจะเปิดกว้างยิ่งขึ้น และสุดท้ายเขาก็ได้ย้ายสมใจอยาก
ขณะที่ มิเคล อาร์เตต้า ย้ำอยู่เสมอในเรื่องของการตัดสินใจของเขากับการเลือก ราย่า มาร่วมงานด้วย ว่าเป็นการทำในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อสโมสรเป็นอันดับแรก เขาตัดสินใจปล่อย แมตต์ เทอร์เนอร์ ออกจากทีมไปร่วมงานกับนอตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ในแบบที่ไม่ได้ใช้งานในเกมพรีเมียร์ ลีก แม้แต่เกมเดียว ก่อนที่จะนำตัวราย่ามาร่วมงานด้วย
การเล่นของ ราย่า มีความแตกต่างกับ แรมสเดล มากพอสมควร โดยเฉพาะในเรื่องของตำแหน่งการยืน และการมีส่วนร่วมของการเซตบอลในแนวรับ
นายทวารอาร์เซนอล ทุกคนต้องเป็นคนแรกในการออกบอลสร้างเกมรุก ร่วมกับแนวรับ แต่สิ่งที่ ราย่า แตกต่าจาก แรมสเดล คือการ “ออกบอล” ที่มีความแม่นยำมากกว่าอ้างอิงตามสถิติที่ออกมา รวมถึง
การเป็น “ทางเลือก” ในการรับบอล เมื่อเขาออกมาเล่นนอกกรอบเขตโทษอยู่บ่อยครั้งในแต่ละเกม ราย่าเล่นเป็นเหมือน แนวรับตัวสุดท้าย มากกว่าจะเล่นเป็นนายทวารเพียงอย่างเดียว และนั่นคือสิ่งที่ อาร์เตต้า ต้องการ เขารักในการเห็นทีมตนเอง “ครองบอล – ขึงเกมรุก และแน่นอนยิงประตู” และสิ่งเหล่านั้นจะเริ่มต้นกันตั้งแต่ผู้รักษาประตู
“High Risk High Return” อาจจะพูดแบบนี้ไม่ตรงเสียทีเดียว แต่ด้วยการเล่นของ ราย่า ที่ อาร์เตต้า สั่งให้เล่นเพื่อ “ล่อ” ให้ตัวรุกคู่แข่งมาไล่แย่งบอลที่ตัวเขาจะเป็นการเปิดโอกาส และพื้นที่ว่างในการสร้างเกมรุกได้มากยิ่งขึ้น การเล่นแบบนี้ แฟนบอลจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบเลย แม้กระทั่งตัวราย่าก็พูดเช่นกันว่า เขาทำงานตามหน้าที่เมื่อโค้ชสั่งเขาก็ต้องทำ และถ้ามันผิดพลาดเขาก็จะเป็นคนแรกที่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะทำงานของตนเองต่อไปตามสิ่งที่โค้ชต้องการ แน่นอนทั้งหมดนี้ แรมสเดล ก็ต้องเล่นให้ได้ด้วย หากต้องการกลับมาเป็นมือหนึ่งในทุกสัปดาห์อีกครั้ง
ครั้งหนึ่งอาร์เซนอลอยากได้นายทวารที่เซตบอลจากแนวรับได้ เล่นบอลด้วยเท้าคล่องตัว แรมสเดล ตอบโจทย์นี้มากกว่า เลโน่ มาวันนี้ แรมสเดล เจอกับบททดสอบใหม่ที่ต้องทำให้ได้ยิ่งกว่าเดิม แถมตอนนี้ “คู่แข่ง” ของเขา ได้รับโอกาสก่อน และทำได้ดีไม่น้อยกับหลายเกมที่ผ่านมา มันจึงเป็นสถานการณ์ที่ แรมสเดล ต้องรับมือกับมัน และเขาจะสู้แน่นอนเมื่ออ่านจากสัมภาษณ์ที่ออกมาด้านบน แต่ตราบใดที่ ดาบิด ราย่า ยังไม่มีความผิดพลาด แรมสเดล ก็ต้องก้มหน้ายอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองต่อไป
สถานการณ์แบบนี้ไม่เคยส่งผลดีกับใคร อย่างที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้หลายครั้งว่า นายทวาร เป็นตำแหน่งพิเศษ โค้ชจำนวนมากมี “มือหนึ่ง” เพียงคนเดียวสำหรับพวกเขา ถ้า “มือหนึ่ง” ไม่พร้อมถึงจะเป็นโอกาสสำหรับ “คนอื่น” ภายในทีม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่ากันตามสิ่งที่เห็น แรมสเดล อาจจะมีผลงาน และค่าสถิติที่ด้อยกว่า ราย่า แต่เขาไม่ใช่นายทวารตกยุค ที่ไม่สามารถเล่นในแบบสมัยนิยมยุคนี้ใช้งานนายทวารกัน ดังนั้นสถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจนี้ ไม่ได้อยู่ที่เรื่องของ “วิธีการเล่น” เพียงอย่างเดียว แต่เรื่องของ “ประสิทธิภาพ” ในการลงเล่นที่จะมาชี้วัดว่าใครจะได้รับโอกาสก่อน
อาร์เตต้า เลือกที่จะใช้แผนงานนี้เพื่อยกระดับการเล่นของทีม เป็นหนึ่งทางเลือกที่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ และถ้วยรางวัลเป็นเครื่องยืนยันว่าสุดท้ายกับการใช้งานนายทวารระดับท็อปสองคนมาแย่งชิงตำแหน่งกันในทีมจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ที่เราสามารถคาดเดาปลายทางได้จากประวัติศาสตร์ของหลายทีมที่เคยมีนายทวารระดับท็อปสองคนในทีม มักจะจบลงด้วยการแยกทางกัน ยิ่งเป็นนายทวารที่อายุไม่ถึง 30 ด้วยกันทั้งคู่ ยิ่งยากนักที่จะเก็บเธอไว้ทั้งสองคนได้นาน เพราะใครต่างก็อยากเป็น “มือหนึ่ง” เพียงคนเดียวมากกว่าจะมาเล่นเก้าอี้ดนตรีในสถานะที่ไม่ชัดเจนและต้องลุ้นกันทุกสัปดาห์เช่นนี้
ขอบคุณเนื้อหาจาก 90min.com
https://www.90min.com/th/posts/feature-ramsdale-and-raya-2-arsenal-goalkeeper-with-the-ambiguity